อุโบสถศีล
อุโบสถศีล คือ ศีล ๘ ที่อุบาสก อุบาสิกาสมาทานรักษาในวันอุโบสถ คือวันขึ้นและแรม ๘ ค่ำ, ๑๕ ค่ำ, และวันแรม ๑๔ ค่ำ ในเดือนขาด องค์ประกอบของอุโบสถศีลมี ๘ ข้อ เช่นเดียวกับศีล ๘ ทุกประการ เพียงแต่ผู้ที่มีความประสงค์ที่จะรักษาเฉพาะวันอุโบสถ ในวันหนึ่งคืนหนึ่ง ก็สมาทานอุโบสถศีล คำว่า วันหนึ่งคืนหนึ่ง ท่านนับตั้งแต่อรุณขึ้นของวันที่รักษา ไปจนถึงรุ่งอรุณของวันใหม่ ถ้ารักษาไม่ครบตามเวลาที่กำหนดนี้ ก็ไม่ชื่อว่า วันหนึ่งคืนหนึ่ง
ในอังคุตรนิกาย ติกนิบาต หน้า ๓๘๒-๔๐๕ อุโบสถสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับนางวิสาขามิคารมารดาว่า ผู้ที่จะสมาทานรักษาอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ เมื่อคิดว่า พรุ่งนี้เราจักสมาทานอุโบสถ ควรจะเตรียมตัวให้พร้อมก่อน ดังนี้
ควรตรวจสอบและมอบหมายการงานที่จะต้องจัดแจงไว้ก่อนให้เรียบร้อย ควรเปล่งวาจา สมาทานอุโบสถในสำนักภิกษุ ภิกษุณี หรืออุบาสก อุบาสิกา ผู้รู้ลักษณะของศีล ๘ ตั้งแต่เวลาที่อรุณขึ้น ผู้ที่ไม่รู้บาลี ควรอธิษฐานในความหมายว่า ข้าพเจ้าขออธิษฐานองค์อุโบสถที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้ว และควรเปล่งวาจาสมาทาน หากในที่นั้นไม่มีภิกษุ ภิกษุณี หรืออุบาสก อุบาสิกา ก็เปล่งวาจาอธิษฐานด้วยตนเอง (หรือเปล่งวาจาต่อหน้าพระพุทธรูป)เมื่อสมาทานอุโบสถแล้ว ไม่พึงวิพากษ์วิจารณ์ คือ ติหรือชมความดี ความงาม หรือความบกพร่องของผู้อื่น
เมื่อบริโภคอาหารเช้าแล้ว มุ่งตรงไปยังวิหารเพื่อฟังธรรม หรือมนสิการอารมณ์กัมมัฏฐาน ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งใน ๔๐ ประการ อุโบสถศีล เป็นศีลรวม ถ้าขาดองค์ใดองค์หนึ่ง ก็ไม่เรียกว่าอุโบสถศีล ตามพระพุทธบัญญัติ เพราะฉะนั้น การล่วงศีลหรือขาดอุโบสถศีลเพียงข้อเดียว ก็ถือว่าขาดทั้ง ๘ ข้อ ผู้ที่รักษาอุโบสถศีล จึงควรสำรวมระวังกาย วาจาเป็นพิเศษ.