Friday, 30 July 2010

ท่านเศรษฐี II


ท่านเศรษฐี

ทางไปบ้านคุณลุงท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีผู้มีใจอารี

Thursday, 29 July 2010

friendship


Wednesday, 28 July 2010

walking

พี่หุย เธอจะเดินไปไหน?

Friday, 23 July 2010

villagers

Thursday, 22 July 2010

นางวิสาขามหาอุบาสิกา (จบ)

โดยปกตินางวิสาขา จะกราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์มาเสวยและฉันภัตตาหารที่บ้านของนางเป็นประจำ เมื่อการจัดเตรียมภัตตาหารเสร็จเรียบร้อยพร้อมแล้ว ก็จะให้สาวใช้ไปกราบทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคและภิกษุสงฆ์ให้เสด็จไปยังบ้านของนางวันหนึ่ง สาวใช้ได้มาตามปกติเหมือนทุกวัน แต่วันนั้นมีฝนตกลงมาพระสงฆ์ทั้งหลาย จึงพากันเปลือยกายอาบน้ำฝน เมื่อสาวใช้มาเห็นเข้าก็ตกใจเพราะความที่ตนมีปัญญาน้อยคิดว่าเป็นนักบวชชีเปลือย จึงรีบกลับไปแจ้งแก่นางวิสาขาว่า
“ข้าแต่แม่เจ้า วันนี้ที่วัดไม่มีพระอยู่เลย เห็นมีแต่ชีเปลือยแก้ผ้าอาบน้ำ กันอยู่”
นางวิสาขาได้ฟังคำบอกเล่าของสาวใช้แล้ว ด้วยความที่นางเป็นพระอริยบุคคลชั้นโสดาบัน เป็นมหาอุบาสิกา เป็นผู้มีปัญญาศรัทธาเลื่อมใส มีความใกล้ชิดกับพระภิกษุสงฆ์ จึงทราบ เหตุการณ์โดยตลอดว่า พระบรมศาสดาทรงอนุญาตให้พระภิกษุมีผ้าสำหรับใช้สอยเพียง ๓ ผืน คือ ผ้าจีวรสำหรับห่ม ผ้าสังฆาฎิสำหรับห่มซ้อน และผ้าสบงสำหรับนุ่ง ดังนั้นเมื่อเวลาพระภิกษุจะอาบน้ำจึงไม่มีผ้าสำหรับผลัดอาบน้ำ ก็จำเป็นต้องเปลือยกายอาบน้ำอาศัยเหตุนี้ เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จมาประทับที่บ้านและเสร็จภัตกิจแล้ว นางวิสาขา จึงได้เข้าไปกราบทูลขอพร เพื่อถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่พระภิกษุสงฆ์ พระพุทธองค์ประทานอนุญาตตามที่ขอนั้น และนางวิสาขาก็เป็นบุคคลแรกที่ได้ถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่พระภิกษุสงฆ์

นางวิสาขา ได้ชื่อว่าเป็นมหาอุบาสิกาผู้ยิ่งใหญ่ เป็นยอดแห่งอุปัฏฐายิกา ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาด้วยวัตถุจตุปัจจัยไทยทานต่าง ๆ ทั้งที่ถวายเป็นของสงฆ์ส่วนรวม และถวายเป็นของส่วนบุคคลคือแก่พระภิกษุแต่ละองค์ ๆ การทำบุญของนางนับว่าครบถ้วนทุกประการตามหลัก"บุญกิริยาวัตถุ" ดังคำที่นางเปล่งอุทานในวันฉลองวิหาร คือ วัดบุพพาราม ที่นางสร้างถวายนั้นด้วยคำว่า "ความปรารภนาใด ๆ ที่เราตั้งไว้ในกาลก่อน ความปรารถนานั้น ๆ ทั้งหมดของเราได้ สำเร็จเสร็จสิ้นสมบูรณ์ทุกประการแล้ว"
ความปรารถนาเหล่านั้น คือ
๑. ความปรารถนาที่จะสร้างปราสาทฉาบด้วยปูนถวายเป็นวิหารทาน
๒. ความปรารถนาที่จะถวายเตียง ตั่ง ฟูก หมอน และเสนาสนภัณฑ์
๓. ความปรารถนาที่จะถวายสลากภัตเป็นโภชนาทาน
๔. ความปรารถนาที่จะถวายผ้ากาสาวพัสตร์ ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย เป็น จีวรทาน
๕. ความปรารถนาที่จะถวายเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นเภสัชทาน

ความปรารถนาเหล่านั้นของนางวิสาขาสำเร็จครบถ้วนทุกประการ สร้างความเอิบอิ่มใจแก่นางยิ่งนัก นางจึงเดินเวียนรอบปราสาทอันเป็นวิหารทานพร้อมทั้งเปล่งอุทานดังกล่าวพระภิกษุทั้งหลายได้เห็นกิริยาอาการของนางวิสาขาแล้ว ต่างก็รู้สึกประหลาดใจ ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับนาง จึงพร้อมใจกันเข้าไปกราบทูลถามพระบรมศาสดาว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญตั้งแต่ได้พบเห็นและรู้จักนางวิสาขาก็เป็นเวลานานพวกข้าพระองค์ทั้งหลาย ไม่เคยเห็นนางขับร้องเพลงและแสดงอาการอย่างนี้มาก่อนเลย แต่วันนี้ นางอยู่ในท่ามกลางการแวดล้อมของบรรดาบุตรธิดาและหลาน ๆ ได้เดินเวียนรอบปราสาทและบ่นพึมพำคล้ายกับร้องเพลง เข้าใจว่าดีของนางคงจะกำเริบ หรือไม่นางก็คงจะเสียจริตไปแล้วหรืออย่างไร พระเจ้าข้า ?” พระพุทธองค์ตรัสแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า “ภิกษุทั้งหลาย ธิดาของเรามิได้ขับร้องเพลงหรือเสียจริตอย่างที่พวกเธอเข้าใจหรอก แต่ที่ธิดาของเราเป็นอย่างนั้นก็เพราะความปีติยินดีที่ความปรารถนาของตนที่ตั้งไว้นั้นสำเร็จลุล่วงสมบูรณ์ทุกประการ นางจึงเดินเปล่งอุทานออกมาด้วยความอิ่มเอมใจด้วยเหตุที่นางวิสาขาได้อุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสงฆ์ และได้ถวายวัตถุจตุปัจจัยในพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก ดังกล่าวมา พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงประกาศยกย่องนางในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายในฝ่าย ผู้เป็น"ทายิกา"

นางวิสาขามหาอุบาสิกา (4)

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารบุพพาราม ซึ่งนางวิสาขาเป็นผู้สร้างถวายใกล้กรุงสาวัตถี ขณะนั้นหลานสาวชื่อว่า"สุทัตตี" ผู้เป็นที่รักเป็นที่พอใจอย่างยิ่งของนางได้ถึงแก่กรรมลง ทำให้นางเศร้าโศกเสียใจ ร้องไห้รำพันถึงหลานรัก เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคทั้ง ๆ ที่กำลังร้องไห้อยู่ด้วยพระพุทธองค์ตรัสถามเหตุแห่งความเศร้า ทรงทราบโดยตลอดแล้ว จึงตรัสถามว่า
“ดูก่อนวิสาขา ในพระนครสาวัตถีนี้ เธอต้องการบุตรหลานสักกี่คน ?”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ต้องการบุตรหลานในพระนครนี้ทั้งหมด พระเจ้าข้า”
“ดูก่อนวิสาขา ก็ในพระนครสาวัตถีนี้ มีคนตายวันละเท่าไร ?”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในพระนครสาวัตถีนี้ มีคนตายวันละ ๑ คนบ้าง ๒ คนบ้าง ถึงวันละ ๑๐ คนบ้าง พระเจ้าข้า”
“ดูก่อนวิสาขา ถ้าคนเหล่านั้นเป็นบุตรหลานของเธอจริง เธอก็คงมีหน้าเปียกชุ่มด้วยน้ำตาโดยไม่มีวันแห้งเหือด วิสาขา คนในโลกนี้ ผู้ใดมีสิ่งเป็นที่รัก ๑๐๐ ผู้นั้นก็จะมีทุกข์ถึง ๑๐๐ ผู้ใดมีสิ่งเป็นที่รัก ๕๐ ผู้นั้นก็จะมีทุกข์ถึง ๕๐ เช่นกัน
“ดูก่อนวิสาขา เราขอบอกเธอว่า ความทุกข์ ความเศร้าโศก ความพิไรรำพัน ที่คนทั้งหลายประสบกันอยู่ในโลกนี้ ก็เพราะอาศัยสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก ถ้าไม่มีสัตว์หรือสัตว์อันเป็นที่รักแล้ว ความทุกข์ ความเศร้าโศก ความพิไรรำพันเหล่านั้นก็ไม่มี ผู้นั้นก็จะมีแต่ความสุข ดังนั้น ผู้ปรารถนาความสุขให้กับตนเอง ก็ไม่ควรทำสัตว์หรือสังขารให้เป็นที่รัก”
นางวิสาขา เมื่อได้ฟังพระพุทธดำรัสตรัสสอนจบลงแล้ว ก็คลายจากความเศร้าโศก แต่เพราะความที่นางมีลูกหลานหลายคน ซึ่งต่อจากนั้นอีกไม่นานนักหลานสาวอีกคนหนึ่ง ที่นางได้มอบหมายหน้าที่การปฏิบัติดูแลพระภิกษุสงฆ์ซึ่งนิมนต์มาฉันที่บ้านเป็นประจำก็ได้ถึงแก่ความตายลงอีก นางวิสาขาก็ต้องเสียน้ำตาร่ำไห้ด้วยความรักความอาลัยต่อหลานสาวเป็นครั้งที่สอง และพระพุทธองค์ก็ทรงเทศนาโปรดนางให้คลายความเศร้าโศกลงดุจเดียวกับครั้งก่อน

โดยปกตินางวิสาขาจะไปวัดวันละ ๒ ครั้ง คือ เช้า-เย็น และเมื่อไปก็จะไม่ไปมือเปล่า ถ้าไปเวลาเช้าก็จะมีของเคี้ยวของฉันเป็นอาหารไปถวายพระ ถ้าไปเวลาเย็นก็จะถือน้ำปานะไปถวาย เพราะนางมีปกติทำอย่างนี้เป็นประจำ จนเป็นที่ทราบกันดีทั้งพระภิกษุสามเณร และอุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย แม้นางเองก็ไม่กล้าที่จะไปวัดด้วยมือเปล่า ๆ เพราะละอายที่พระภิกษุหนุ่ม สามเณรีน้อยต่างก็จะมองดูที่มือว่านางถืออะไรมา และก่อนที่นางจะออกจากวัดกลับบ้าน นางจะเดินเยี่ยมเยือนถามไถ่ความสุข ความทุกข์ และความประสงค์ของพระภิกษุสามเณร และเยี่ยมภิกษุไข้จนทั่วถึงทุก ๆ องค์ก่อนแล้วจึงกลับบ้านวันหนึ่งเมื่อนางมาถึงวัด นางได้ถอดเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ มอบให้หญิงสาวผู้ติดตามถือไว้ เมื่อเสร็จกิจการฟังธรรมและเยี่ยมเยือนพระภิกษุสามเณรแล้ว ขณะเดินกลับบ้าน นางได้บอกให้หญิงรับใช้ส่งเครื่องประดับให้ แต่หญิงรับใช้ลืมไว้ที่ศาลาฟังธรรม นางจึงให้กลับไปนำมา แต่สั่งว่าถ้าพระอานนท์เก็บรักษาไว้ก็ไม่ต้องเอาคืนมาให้มอบถวายท่านไปเลย เพราะนางคิดว่าจะไม่ประดับเครื่องประดับที่พระคุณเจ้าถูกต้องสัมผัสแล้ว ซึ่งพระอานนท์ท่านก็มักจะเก็บรักษาของที่อุบาสกอุบาสิกาลืมไว้เสมอ และก็เป็นไปตามที่นางคิดไว้จริง ๆ แต่นางก็กลับคิดได้อีกว่า “เครื่องประดับนี้มีประโยชน์แก่พระเถระ” ดังนั้นนางจึงขอรับคืนมาแล้วนำออกขายใน ราคา ๙ โกฏิ กับ ๑ แสนกหาปณะ ตามราคาทุนที่ทำไว้ แต่ก็ไม่มีผู้ใดมีทรัพย์พอที่จะซื้อไว้ได้ นางจึงซื้อเอาไว้เอง ด้วยการนำทรัพย์เท่าจำนวนนั้นมาซื้อที่ดินและวัสดุก่อสร้างดำเนินการสร้างวัดถวายเป็นพระอารามประทับของพระบรมศาสดา และเป็นที่อยู่อาศัยจำพรรษาของพระภิกษุ สงฆ์สามเณร พระบรมศาสดารับสั่งให้พระมหาโมคคัลลานะ เป็นผู้อำนวยการดูแลการก่อสร้าง ซึ่งมีลักษณะเป็นปราสาท ๒ ชั้น มีห้องสำหรับพระภิกษุพักอาศัยชั้นละ ๕๐๐ ห้อง โดยใช้เวลาใน การก่อสร้างถึง ๙ เดือน และเมื่อสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ได้นามว่า"พระวิหารบุพพาราม"

นางวิสาขามหาอุบาสิกา (3)

เมื่อนางวิสาขา เข้ามาสู่ตระกุลของสามีแล้ว เพราะความที่เป็นผู้ได้รับการอบรมสั่งสอนเป็นอย่างดีตั้งแต่วัยเด็ก และเป็นผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีน้ำใจเจรจาไพเราะ ให้ความเคารพผู้ที่มีวัยสูงกว่าตน จึงเป็นที่รักใคร่และชอบใจของคนทั่วไป ยกเว้นมิคารเศรษฐีของสามี ซึ่งมีจิตฝักใฝ่ในนักบวชอเจลกชีเปลือย โดยให้ความเคารพนับถือว่าเป็นพระอรหันต์ และนิมนต์ให้มาบริโภคโภชนาหารที่บ้านของตนแล้ว สั่งให้คนไปตามนางวิสาขามาไหว้พระอรหันต์ และให้มาช่วยจัดเลี้ยงอาหารแก่อเจลกชีเปลือยเหล่านั้นด้วย นางวิสาขา ผู้เป็นพระอริยสาวิกาชั้นโสดาบันพอได้ยินคำว่า อรหันต์ ก็รู้สึกปีติยินดีรีบมายังเรือนของมิคารเศรษฐี แต่พอได้เห็นอเจลกชีเปลือย ก็ตกใจจึงกล่าวว่า “ผู้ไม่มีความละอายเหล่านี้ จะเป็นพระอรหันต์ไม่ได้” พร้อมทั้งกล่าวติเตียนมิคารเศรษฐีแล้วกลับที่อยู่ของตน ต่อมาอีกวันหนึ่ง ขณะที่มิคารเศรษฐีกำลังบริโภคอาหารอยู่ โดยมีนางวิสาขาคอยปรนนิบัติอยู่ใกล้ ๆ ได้มีพระเถระเที่ยวบิณฑบาตผ่านมาหยุดยืนที่หน้าบ้านของมิคารเศรษฐี นางวิสาขาทราบดีว่าเศรษฐีแม้จะเห็นพระเถระแล้วก็ทำเป็นไม่เห็น นางจึงกล่าวกับพระเถระว่า “นิมนต์พระคุณเจ้าไปข้างหน้าก่อนเถิด ท่านเศรษฐีกำลังบริโภคของเก่าอยู่” เศรษฐี ได้ฟังดังนั้นแล้วจึงโกรธเป็นที่สุด หยุดบริโภคอาหารทันทีแล้วสั่งให้บริวารมาจับและขับไล่นางวิสาขาให้ออกจากบ้านไป แต่ก็ไม่มีใครกล้าเข้ามาจับ นางวิสาขาขอชี้แจงแก่กุฎุมพี ๘ นายที่คุณพ่อได้ส่งมาช่วยดูแลนางก่อน และเมื่อมิคารเศรษฐีให้คนไปเชิญกุฎุมพีมาแล้ว แจ้งโทษของนางวิสาขาให้ฟัง ซึ่งนางก็แก้ด้วยคำว่า “ที่ดิฉันกล่าวอย่างนั้น หมายถึง มิคารเศรษฐีบิดาของสามีกำลังบริโภคบุญเก่าอยู่ มิใช่บริโภคของบูดเน่าอย่างที่เข้าใจ” กุฎุมพีทั้ง ๘ จึงกล่าวกับเศรษฐีว่า “เรื่องนี้นางวิสาขาไม่มีความผิด”

เมื่อมิคารเศรษฐี ฟังคำชี้แจงของลูกสะใภ้แล้วก็หายโกรธขัดเคือง และกล่าวขอโทษนางพร้อมทั้งอนุญาตให้นางนิมนต์พระบรมศาสดาพร้อมภิกษุสงฆ์มารับอาหารบิณฑบาตในเรือนของตน ขณะที่นางวิสาขาจัดถวายภัตตาหารแด่พระบรมศาสดาและภิกษุสงฆ์อยู่นั้น ก็ได้ให้คนไปเชิญมิคารเศรษฐีมาร่วมถวายภัตตาหารด้วย แต่เศรษฐีเมื่อมาแล้วไม่กล้าที่ออกไปสู่ที่เฉพาะพระพักตร์พระศาสดา เพราะไม่มีศรัทธาเลื่อมใสจึงแอบนั่งอยู่หลังม่าน เมื่อเสร็จภัตกิจแล้วพระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนา ส่วนมิคารเศรษฐีแม้จะหลบอยู่หลังม่านก็มีโอกาสได้ฟังธรรมด้วยจนจบ และได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันบุคคลในพุทธศาสนาเป็นสัมมาทิฎฐิบุคคลตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทันใดนั้น มิคารเศรษฐีได้ออกมาจากหลังม่านแล้วตรงเข้าไปหานางวิสาขาใช้ปากดูดถันของลูกสะใภ้ และประกาศให้ได้ยินทั่วกัน ณ ที่นั้นว่า “ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปขอเธอจงเป็นมารดาของข้าพเจ้า” และตั้งแต่นั้นมานางวิสาขาก็ได้นามว่า “มิคารมารดา” คนทั่วไปนิยมเรียกนางว่า “วิสาขามิคารมารดา”

ในบรรดาอุบาสิกาทั้งหลาย นางวิสาขานับว่าเป็นผู้มีบุญสั่งสมมาตั้งแต่อดีตชาติมากเป็นพิเศษกว่าอุบาสิกาคนอื่น ๆ หลายประการ เช่น
๑. ลักษณะของผู้มีวัยงาม คือ แม้ว่านางจะมีอายุมาก มีลูกชาย-หญิง ถึง ๒๐ คน ลูกเหล่านั้นแต่งงานมีลูกอีกคนละ ๒๐ คน นางก็มีหลานนับได้ ๔๐๐ คน หลานเหล่านั้นแต่งงานมีลูกอีกคนละ ๒๐ คน นางวิสาขามีเหลนนับได้ ๘๐๐๐ คน ดังนั้น คนจำนวน ๘๔๒๐ คน มีต้นกำเนิดมาจากนางวิสาขา นางมีอายุยืนได้เห็นหลานได้เห็นเหลนทุกคน แม้นางมีอายุถึง ๑๒๐ ปี แต่ขณะเมื่อนางนั่งอยู่ในกลุ่มของลูก หลาน เหลน นางจะมีลักษณะวัยใกล้เคียงกับคนเหล่านั้น คนพวกอื่นจะไม่สามารถทราบได้ว่านางวิสาขาคือคนไหน แต่จะสังเกตได้เมื่อเวลาจะลุกขึ้นยืน ธรรมดาคนหนุ่มสาวจะลุกได้ทันที แต่สำหรับคนแก่จะต้องใช้มือยันพื้นช่วยพยุงกาย และจะยกก้นขึ้นก่อน นั่นแหละจึงจะทราบว่านางวิสาขาคือคนไหน
๒. นางมีกำลังมากเท่ากับช้าง ๕ เชือกรวมกัน ครั้งหนึ่งพระราชามีพระประสงค์จะทดลองกำลังของนาง จึงรับสั่งให้ปล่อยช้างพลายตัวที่มีกำลังมากเพื่อให้วิ่งชนนางวิสาขา นางเห็นช้างวิ่งตรงเข้ามา จึงคิดว่า “ถ้ารับช้างนี้ด้วยมือข้างเดียวแล้วผลักไป ช้างก็จะเป็นอันตรายถึงชีวิต เราก็จะเป็นบาป ควรจะรักษาชีวิตช้างไว้จะดีกว่า” นางจึงใช้นิ้วมือเพียงสองนิ้วจับช้างที่งวงแล้วเหวี่ยงไปปรากฏว่าช้างถึงกับล้มกลิ้งแต่ไม่เป็นอันตรายด้วยคุณสมบัติดังกล่าวนี้ชนทั้งหลายเมื่อขจัดงานมงคลในบ้านเรือนของตนจึงพากันเชิญนางวิสาขาให้ไปเป็นประธานในงาน มอบให้นางเป็นผู้นำในพีธีต่าง ๆ แม้แต่อาหารก็ให้นางทานก่อน เพื่อความเป็นสิริมงคล จนนางวิสาขาไม่มีเวลาดูแลปฏิบัติพระภิกษุที่มาฉันในบ้านของตน ต้องมอบให้ลูก ๆ หลาน ๆ ดำเนินการให้

พระอุบลวรรณาเถรี

พระอุบลวรรณาเถรี เอตทัคคะในฝ่ายผู้มีฤทธิ์

พระอุบลวรรณาเถรี เกิดในตระกูลเศรษฐี ในกรุงสาวัตถี บิดามารดาได้ตั้งชื่อให้นางว่า “อุบลวรรณา” ตามนิมิตลักษณะที่นางมีผิวพรรณเหมือนกลีบดอกอุบลเขียว เพราะสวยบาดใจจึงต้องให้บวช เมื่อนางเจริญวัยเข้าสู่วัยสาว นอกจากจะมีผิวงามแล้วรูปร่างลักษณะยังงดงามสุดเท่าที่จะหาหญิงอื่นทัดเทียมได้ จึงเป็นที่หมายปองต้องการของพระราชาและมหาเศรษฐีทั่วทั้งชมพู ทวีปซึ่งต่างก็ส่งเครื่องบรรณาการอันมีค่าไปมอบให้พร้อมกับสู่ขอเพื่ออภิเษกสมรสด้วยฝ่ายเศรษฐีผู้บิดาของนางรู้สึกลำบากใจด้วยคิดว่า “เราไม่สามารถที่จะรักษาน้ำใจของคนทั้งหมดเหล่านี้ได้ เราควรจะหาอุบายทางออกสักอย่างหนึ่ง” แล้วจึงเรียกลูกสาวมาถามว่า:- “แม่อุบลวรรณา เจ้าจะสามารถบวชได้ไหม ?” นางได้ฟังคำของบิดาแล้วรูสึกร้อนทั่วสรรพางค์กายเหมือนกับมีคนนำเอาน้ำมันที่เคี่ยว ให้เดือด ๑๐๐ ครั้ง ราดลงบนศีรษะของนาง ด้วยว่านางได้สั่งสมบุญมาแต่อดีตชาติ และการเกิดในชาตินี้ ก็เป็นชาติสุดท้ายของนาง ดังนั้น นางจึงรับคำของบิดาด้วยความปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง

เศรษฐีผู้บิดาจึงพานางไปยังสำนักของภิกษุสงฆ์แล้วให้บวชเป็นที่เรียบร้อย เมื่อนางอุบลวรรณาบวชได้ไม่นาน ก็ถึงสาระที่จะต้องไปทำความสะอาดโรงอุโบสถ เธอได้จุดประทีปเพื่อขจัดความมืดแล้วกวาดโรงอุโบสถ เห็นเปลวไฟที่ดวงประทีปแล้วยึดถือเอาเป็นนิมิตร ขณะที่กำลังยืนอยู่นั้นได้เข้าฌาณมีเตโชกสิณเป็นอารมณ์ แล้วกระทำฌาณนั้นให้เป็นฐานเจริญวิปัสสนา ก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา และอภิญญาทั้งหลาย ณ. ที่นั้นนั่นเอง.

เมื่อพระเถรีสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ได้เที่ยวจาริกไปยังชนบทต่าง ๆ แล้วกลับมาพักที่ป่าอันธวัน สมัยนั้นพระผู้มีพระภาคยังมิได้ทรงบัญญัติห้ามภิกษุณีอยู่ในป่าเพียงลำพัง ประชาชนได้ช่วยกันปลูกกระท่อมไว้ในป่า พร้อมทั้งเตียงตั่ง กั้นม่าน แล้วถวายเป็นที่พักแก่พระเถรีนั้น

ฝ่ายนันทมาณพ ผู้เป็นลูกชายของลุงของพระเถรีนั้น มีจิตหลงรักนางตั้งแต่ยังไม่บวชเมื่อทราบข่าวว่าพระเถรีมาพักที่ป่าอันธวันใกล้เมืองสาวัตถี จึงได้ถือโอกาสขณะที่พระเถรีเข้าไปบิณฑบาตในเมืองสาวัตถีนั้น ได้เข้าไปในกระท่อมหลบซ่อนตัวอยู่ใต้เตียง เมื่อพระเถรีกลับมาแล้ว เข้าไปในกระท่อมปิดประตูแล้วนั่งลงบนเตียง ขณะที่สายตายังไม่ปรับเข้ากับความมืดในกระท่อม นันทมาณพก็ออกมาจากใต้เตียงตรงเข้าปลุกปล้ำข่มขืนพระเถรี ถึงแม้พระเถรีจะร้องห้ามว่า “เจ้าคนพาล เจ้าอย่าพินาศฉิบหายเลย เจ้าคนพาล เจ้าอย่าพินาศฉิบหายเลย” นันทมาณพ ก็ไม่ยอมเชื่อฟัง ได้ทำการข่มขืนพระเถรีสมปรารถนาแล้วก็หลีกหนีไป พอเขาหลบหนีไปได้ไม่ไกล แผ่นดินใหญ่ก็มีอาการประหนึ่งว่าไม่สามารถจะรองรับน้ำหนักของเขาเอาไว้ได้ จึงอ่อนตัวยุบลงแล้วนันทมาณพก็จมดิ่งลงในแผ่นดิน ไปเกิดในอเวจีมหานรก

ฝ่ายพระอุบลวรรณาเถรี ก็มิได้ปิดบังเรื่องราวที่เกิดขึ้น ได้บอกแจ้งเหตุที่เกิดขึ้นกับตนนั้นแก่ภิกษุณีทั้งหลาย ต่อจากนั้นเรื่องราวของพระเถรีก็ทราบถึงพระบรมศาสดา พระพุทธองค์ได้ตรัสพระคาถาภาษิตว่า:- “คนพาล ย่อมร่าเริงยินดีในบาปกรรมลามกที่ตนกระทำประดุจว่าดื่มน้ำผึ้งที่มีรสหวานจนกว่าบาปกรรมนั้นจะให้ผลจึงจะได้ประสบกับความทุกข์ เพราะกรรมนั้น”

เมื่อกาลเวลาล่วงไปภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมเกี่ยวกับเหตุการณ์ของพระอุบลวรรณาเถรี นั้นว่า:-“ท่านทั้งหลาย เห็นทีพระขีณาสพทั้งหลาย คงจะยังมีความยินดีในกามสุข คงจะยังจะพอใจในการเสพกาม ก็ทำไมจะไม่เสพเล่า เพราะท่านเหล่านั้นมิใช่ไม้ผุ มิใช่จอมปลวก อีกทั้งเนื้อหนังร่างกายทั่วทั้งสรีระก็ยังสดอยู่ ดังนั้น แม้จะเป็นพระขีณาสพก็ชื่อว่ายังยินดีในการเสพกาม" พระบรมศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามทรงทราบเนื้อความที่พวกภิกษุเหล่านั้นสนทนากันแล้วจึงตรัสว่า:- “ภิกษุทั้งหลาย พระขีณาสพทั้งหลายนั้นไม่ยินดีในกามสุข ไม่เสพกามเปรียบเสมือนหยาดน้ำตกลงในใบบัวแล้วไม่ติดอยู่ ย่อมกลิ้งตกลงไป และเหมือนกับเมล็ดพันธุ์ผักกาดย่อมไม่ติดตั้งอยู่บนปลายเหล็กแหลม ฉันใด ขึ้นชื่อว่ากามก็ย่อมไม่ซึมซาบ ไม่ติดอยู่ในจิตของพระขีณาสพ ฉันนั้น”

ต่อมาพระบรมศาสดา ทรงพิจารณาเห็นภัยอันจะเกิดแก่กุลธิดาผู้เข้ามาบวชแล้วพักอาศัยอยู่ในป่า อาจจะถูกคนพาลลามกเบียดเบียนประทุษร้าย ทำอันตรายต่อพรหมจรรย์ได้ จึงรับสั่งให้เชิญพระเจ้าปเสนทิโกศลมาเฝ้า ตรัสให้ทราบพระดำริแล้ว ขอให้สร้างที่อยู่อาศัยเพื่อนางภิกษุณีสงฆ์ในที่บริเวณใกล้ ๆ พระนคร และตั้งแต่นั้นมา ภิกษุณีก็มีอาวาสอยู่ในบ้านในเมืองเท่านั้น

พระอุบลวรรณาเถรี ปรากฏว่าเป็นผู้ชำนาญในการแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ดังจะเห็นได้ในวันที่ พระบรมศาสดาทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์นั้น พระเถรีก็กราบทูลอาสาขอแสดงฤทธิ์เพื่อต่อสู้กับพวกเดียรถีย์แทนพระพุทธองค์ด้วย และทรงอาศัยเหตุนี้จึงได้ทรงสถาปนาพระอุบล
วรรณาเถรี นี้ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลาย ในฝ่าย ผู้มีฤทธิ์ และเป็นอัครสาวิกาฝ่ายซ้าย.

นางวิสาขามหาอุบาสิกา (2)

นางวิสาขา อุบาสิกาผู้เป็นเลิศในฝ่ายทายิกา(ผู้ให้) (๒)

พวกพราหมณ์เที่ยวแสวงหาไปตามเมืองต่าง ๆ ทั้งเมืองเล็กเมืองใหญ่ จนมาถึงเมืองสาเกต ได้พบนางวิสาขามีลักษณะภายนอกถูกต้องตามตำราอิตถี ลักษณะครบทุกประการ ขณะที่นางพร้อมทั้งหญิงบริวารออกมาเที่ยวเล่นน้ำกันที่ท่าน้ำ ขณะนั้นฝนตกลงมาอย่างหนัก หญิงบริวารทั้งหลายพากันวิ่งหลบหนีฝนเข้าไปในศาลา แต่นางวิสาขายังคงเดินด้วยอาการปกติ ทำให้พวกพราหมณ์ทั้งหลายรู้สึกแปลกใจประกอบกับต้องการจะเห็นลักษณะฟันของนางด้วยจึงถามนางว่า “ทำไม เธอจึงไม่วิ่งหลบหนีฝนเหมือนกับหญิงอื่น ๆ” นางวิสาขาตอบว่า ชน ๔ พวกเมื่อวิ่งจะดูไม่งาม ได้แก่
๑.พระราชา ผู้ทรงประดับด้วยเครื่องอาภรณ์พร้อมสรรพ
๒.บรรพชิต ผู้ครองผ้ากาสาวพัสตร์
๓.สตรี ผู้ชื่อว่าเป็นหญิงทั้งหลาย นอกจากจะดูไม่งานแล้วถ้าเกิดอุบัติเหตุจนเสียโฉม หรือพิการ จะทำให้เสื่อมเสียและหมดคุณค่า
๔.ช้างมงคล ตัวประดับด้วยเครื่องอาภรณ์สำหรับช้าง

พวกพราหมณ์ได้เห็นปัญญาอันชาญฉลาด และคุณสมบัติ เบญจกัลยาณี ครบทุกประการแล้ว จึงขอให้นางพาไปที่บ้านเพื่อทำการสู่ขอตอพ่อแม่ตามประเพณี เมื่อสอบถามถึงชาติตระกูลและทรัพย์สมบัติก็ทราบว่า มีเสมอกัน จึงสวมพวงมาลัยทองให้นางวิสาขาเป็นการหมั้นหมายและกำหนดวันวิวาหมงคลธนญชัยเศรษฐี ได้สั่งให้ช่างทองทำเครื่องประดับ ชื่อ มหาลดาปสาธน์ เพื่อมอบให้แก่ลูกสาว ซึ่งเป็นเครื่องประดับชนิดพิเศษ เป็นชุดยาวติดต่อกันตั้งแต่ ศีรษะจรดปลายเท้า ประดับด้วยเงินทองและรัตนอันมีค่าถึง ๙ โกฏิกหาปณะ ค่าแรงฝีมือช่างอีก ๑ แสน เป็นเครื่องประดับที่หญิงอื่น ๆ ไม่สามารถจะประดับได้เพราะมีน้ำหนักมาก นอกจากนี้ ธนญชัยเศรษฐี ยังได้มอบทรัพย์สินเงินทองของใช้ต่าง ๆ รวมทั้งข้าทาสบริวารและฝูงโคอีกจำนวนมากมายมหาศาล อีกทั้งส่งกุฏุมพีผู้มีความชำนาญพิเศษด้านต่าง ๆ ไปเป็นที่ปรึกษาดูแลประจำตัวอีก ๘ นายด้วย

ธนญชัยเศรษฐีให้โอวาทลูกสาวก่อนที่นางวิสาขาจะไปสู่ตระกูลของสามี ธนญชัยเศรษฐีได้อบรมมารยาทสมบัติของ กุลสตรีผู้จะไปสู่ตระกูลของสามี โดยให้โอวาท ๑๐ ประการ เป็นแนวปฏิบัติ คือ
โอวาทข้อที่ ๑ ไฟในอย่านำออก หมายความว่า อย่านำความไม่ดีของพ่อผัวแม่ผัวและสามีออกไปพูดให้คนภายนอกฟัง
โอวาทข้อที่ ๒ ไฟนอกอย่านำเข้า หมายความว่า เมื่อคนภายนอกตำหนิพ่อผัวแม่ผัวและสามีอย่างไร อย่านำมาพูดให้คนในบ้านฟัง โอวาทข้อที่ ๓ ควรให้แก่คนที่ให้เท่านั้น หมายความว่า ควรให้แก่คนที่ยืมของไปแล้วแล้วนำมาส่งคืน
โอวาทข้อที่ ๔ ไม่ควรให้แก่คนที่ไม่ให้ หมายความว่า ไม่ควรให้แก่คนที่ยืมของไปแล้ว แล้วไม่นำมาส่งคืน
โอวาทข้อที่ ๕ ควรให้ทั้งแก่คนที่ให้และไม่ให้ หมายความว่า เมื่อมีญาติมิตรผู้ยากจนมาขอความช่วยเหลือพึ่งพาอาศัย เมื่อให้ไปแล้วจะให้คืนหรือไม่ให้คืน ก็ควรให้
โอวาทข้อที่ ๖ พึงนั่งให้เป็นสุข หมายความว่า ไม่นั่งในที่กีดขวางพ่อผัว แม่ผัวและสามี
โอวาทข้อที่ ๗ พึงนอนให้เป็นสุข หมายความว่า ไม่ควรนอนก่อนพ่อผัวแม่ผัวและสามี
โอวาทข้อที่ ๘ พึงบริโภคให้เป็นสุข หมายความว่า ควรจัดให้พ่อผัว แม่ผัวและสามีบริโภคแล้ว ตนจึงบริโภคภายหลัง
โอวาทข้อที่ ๙ พึงบำเรอไฟ หมายความว่า ให้มีความสำนึกอยู่เสมอว่า พ่อผัว แม่ผัวและสามีเป็นเหมือนกองไฟ และพญานาคที่จะต้องบำรุงดูแล
โอวาทข้อที่ ๑๐ พึงนอบน้อมเทวดาภายใน หมายความว่า ให้มีความสำนึกอยู่เสอมว่า พ่อผัว แม่ผัว และสามีเป็นเหมือนเทวดาที่จะต้องให้ความนอบน้อม

ธนญชัยเศรษฐี ให้เวลาถึง ๔ เดือนในการเตรียมทรัพย์สมบัติเพื่อมอบให้แก่นางวิสาขา สำหรับใช้สอยเมื่อไปอยู่ในตระกูลของสามีเฉพาะเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์เพียงอย่างเดียวก็ใช้เวลาทำถึง ๔ เดือน เช่นกัน เมื่อถึงกำหนดนางวิสาขาได้ออกเดินทางไปยังตระกูลของสามี พร้อมด้วยข้าทาสบริวารทรัพย์สินเงินทองของใช้อเนกอนันต์ และโคกระบืออีกมากมายมหาศาล ที่บิดาจัดการมอบให้แม้กระนั้น โคกระบือที่อยู่ในคอกยังทำลายคอกวิ่งออกตามขบวนของนางวิสาขาไปอีกจำนวนมาก ทั้งนี้ด้วยอานิสงส์แห่งการทำบุญถวายทานที่นางทำไว้ในอดีตชาติ คือ ในครั้งที่นางวิสาขาเดิมเป็นธิดาของพระเจ้ากิกิ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ นางได้ถวายอาหารแก่พระภิกษุสามเณรเป็นประจำ และทั้ง ๆ ที่พระภิกษุสามเณรกล่าวว่า “พอแล้ว ๆ” ก็ยังตรัสว่า “พระคุณเจ้าสิ่งนี้อร่อย สิ่งนี้น่าฉัน” แล้วก็ถวายเพิ่มขึ้นอีก ด้วยอานิสงส์แห่งการถวายเพิ่มนี้ บันดาลให้โคเหล่านั้นแม้จะมีคนห้ามมีคอกกั้นอยู่ก็ยังโดดออกจากคอกวิ่งตามขบวนของนางวิสาขาไปอีกจำนวนมาก

นางวิสาขามหาอุบาสิกา(1)

นางวิสาขา อุบาสิกาผู้เป็นเลิศในฝ่ายทายิกา(ผู้ให้) (๑)

นางวิสาขา เกิดในตระกูลเศรษฐี ในเมืองภัททิยะ แคว้นอังคะ บิดาชื่อว่า ธนญชัย มารดาชื่อว่าสุมนาเทวี และปู่ชื่อเมณฑกเศรษฐี ขณะเธอมีอายุอยู่ในวัย ๗ ขวบ เป็นที่รักดุจแก้วตาดวงใจของเมณฑกะผู้เป็นปู่ยิ่งนัก

๗ ขวบบรรลุโสดาบัน เมื่อเมณฑกเศรษฐีได้ทราบข่าวว่า พระบรมศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จำนวนมากกำลังเสด็จมาสู่เมืองภัททิยะ านเมณฑกเศรษฐี จึงได้มอบหมายให้เด็กหญิงวิสาขาพร้อมด้วยบริวารออกไปทำการรับเสด็จที่นอกเมือง ขณะที่พระพุทธองค์ประทับพักผ่อนพระอิริยาบถอยู่นั้น เด็กหญิงวิสาขาพร้อมด้วยบริวาร เข้าไปเฝ้ากราบถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่อันสมควรแก่ตน พระพุทธ
องค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาให้พวกเธอฟัง เมื่อจบลงก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันด้วยกันทั้งหมด ส่วนเมณฑกเศรษฐี เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จมาถึงแล้วจึงรีบเข้าไปเฝ้าได้ฟังพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันเช่นกัน แล้วกราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ที่ติดตามเสด็จทั้งหมดเข้าไปรับอาหารบิณฑบาต ณ ที่บ้านของตนตลอดระยะเวลา ๑๕ วันที่ประทับอยู่ที่ภัททิยนครนั้น สมัย พระเจ้าปเสนทิโกศลแห่งเมืองสาวัตถี และพระเจ้าพิมพิสารแห่งเมืองราชคฤห์ มีความเกี่ยวข้องกันโดยต่างก็ได้ภคินี (น้องสาว) ของกันและกันมาเป็นมเหสี แต่เนื่องจากในเมืองสาวัตถีของพระเจ้าปเสนทิโกศลนั้น ไม่มีเศรษฐีตระกูลใหญ่ ๆ ผู้มีทรัพย์สมบัติมากเลย และได้ทราบว่าในเมืองราชคฤห์ของพระเจ้าพิมพิสารนั้น มีเศรษฐีผู้มีทรัพย์สมบัติขนานนับไม่ถ้วนอยู่ถึง ๕ คน

ดังนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล จึงเสด็จมายังเมืองราชคฤห์ เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารแล้วแจ้ง ความประสงค์ที่มาในครั้งนี้ ก็เพื่อขอพระราชทานตระกูลเศรษฐีในเมืองราชคฤห์นี้ไปอยู่ในเมืองสาวัตถีสักหนึ่งตระกูล พระเจ้าพิมพิสารได้สดับแล้วตรัสตอบว่า “การโยกย้ายตระกูลใหญ่ ๆ เพียงหนึ่งตระกูลก็เหมือนกับแผ่นดินทรุด” แต่เพื่อรักษาสัมพันธไมตรีต่อกันไว้หลังจากที่ได้ปรึกษากับอำมาตย์ทั้งหลายแล้ว เห็นพ้องต้องกันว่าสมควรยกตระกูลธนญชัยเศรษฐี ให้ไปอยู่เมืองสาวัตถีกับพระเจ้าปเสนทิโกศล ธนญชัยเศรษฐีได้ขนย้ายทรัพย์สมบัติพร้อมทั้งบริวารและสัตว์เลี้ยงทั้งหลายเดินทางสู่พระนครสาวัตถีพร้อมกับพระเจ้าปเสนทิโกศล และเมื่อเดินทางเข้าเขตแคว้นของ
พระเจ้าปเสนทิโกศล แล้ว ขณะที่พักค้างแรมระหว่างทางก่อนเข้าเมืองธนญชัยเศรษฐีเห็นว่าภูมิประเทศบริเวณที่พักนั้นเป็นชัยภูมิเหมาะสมดี อีกทั้งตนเองก็มีบริวารติดตามมาเป็นจำนวนมาก ถ้าไปตั้งบ้านเรือนภายในเมืองก็จะคับแคบ จึงขออนุญาตพระเจ้าปเสนทิโกศลก่อตั้งบ้านเมืองลง ณ ที่นั้น และได้ชื่อเมืองใหม่นี้ว่า “สาเกต” ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองสาวัตถี ๗ โยชน์

หญิงงามเบญจกัลยาณี ในเมืองสาวัตถีนั้น มีเศรษฐีตระกูลหนึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า มิคารเศรษฐี มีบุตรชายชื่อ ปุณณวัฒนกุมาร เมื่อเจริญวัยสมควรที่จะมีภรรยาได้แล้ว บิดามารดาขอให้เขาแต่งงานเพื่อสืบทอดวงศ์ตระกูล แต่เขาเองไม่มีความประสงค์จะแต่งเมื่อบิดามารดารบเร้ามากขึ้น เขาจึงหาอุบายเลี่ยงโดยบอกแก่บิดามารดาว่า ถ้าได้หญิงที่มีความงามครบทั้ง ๕ อย่าง ซึ่งเรียกว่า เบญจกัลยาณี
แล้วจึงจะยอมแต่งงาน

เบญจกัลยาณี ความงามของสตรี ๕ อย่าง คือ
๑. เกสกลฺยาณํ - ผมงาม คือ หญิงที่มีผมยาวถึงสะเอวแล้วปลายผมงอนขึ้น
๒. มงฺสกลฺยาณํ - เนื้องาม คือหญิงที่มีริมฝีปากแดงดุจผลตำลึงสุกและเรียบชิดสนิทกันดี
๓. อฏฺฐิกลฺยาณํ - กระดูกงาม คือหญิงที่มีฟันสีขาวประดุจสังข์ และเรียบเสมอกัน
๔. ฉวิกลฺยาณํ - ผิวงาม คือหญิงที่มีผิวงามละเอียด ถ้าดำก็ดำดังดอกบัวเขียว ถ้าขาวก็ขาวดังดอกกรรณิกา
๕. วยกลฺยาณํ - วัยงาม คือ หญิงที่แม้จะคลอดบุตรถึง ๑๐ ครั้ง ก็ยังคงสภาพร่างกายสาวสวยดุจคลอดครั้งเดียว

บิดามารดาเมื่อได้ฟังแล้วจึงให้เชิญพราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญในด้านอิตถีลักษณะมาถามว่า หญิงผู้มีความงามดังกล่าวนี้มีหรือไม่ เมื่อพวกพราหมณ์ตอบว่ามี จึงส่งพราหมณ์เหล่านั้นออกเที่ยวแสวงหาตามเมืองต่าง ๆ พร้อมทั้งมอบพวงมาลัยและเครื่องทองหมั้นไปด้วย

(โปรดอ่านตอนต่อไป)

Wednesday, 21 July 2010

way to go


Tuesday, 20 July 2010

Sarvathi

ถ้าเกิดในสวรรค์...พบกันก็จำได้


Thursday, 15 July 2010

สตรีผู้งามพร้อม

นางวิสาขามหาอุบาสิกา
(สตรีผู้งามพร้อม)

มหาสมุทรย่อมไม่อิ่มด้วยน้ำ
บัณฑิตและปราชญ์ย่อมไม่อิ่มด้วยคำสุภาษิต
ผู้มีศรัทธาเชื่อกรรมและผลของกรรม
ย่อมไม่อิ่มด้วยการทำบุญ
นางวิสาขาเป็นผู้มีศรัทธา
จะให้นางอิ่มด้วยบุญได้ไฉน

พระอรรถกถาจารย์อธิบายพระพุทธพจน์ที่ตรัสกับนางวิสาขา "เรื่องควรทำกุศลให้มากเหมือนช่างทำดอกไม้"ไว้ว่า

“ ถ้าดอกไม้มีน้อย แม้ช่างดอกไม้ฉลาด ก็ไม่สามารถทำดอกไม้ให้มากได้ เมื่อดอกไม้มีน้อยหรือมากก็ตาม ย่อมไม่อาจทำพวงดอกไม้ได้ ฉันใด บุคคลบางพวกมีศรัทธาน้อย แม้สมบัติจะมีมาก ก็ไม่อาจทำกุศลมากได้ บางคนมีศรัทธามากแต่โภคะน้อยก็ไม่อาจทำมากเหมือนกัน บางคนศรัทธาน้อยโภคะก็น้อยก็ไม่อาจทำได้ ส่วนบางคนมีศรัทธามากด้วย มีโภคะมากด้วย เขาย่อมทำกุศลอันโอฬารได้ ”

"นางวิสาขามหาอุบาสิกาเป็นผู้เช่นนั้น มีมากทั้งศรัทธาและโภคะ"

พระศาสดาตรัสพุทธภาษิตนี้ หมายเอานางวิสาขานั่นเอง

ในชีวิตของคนเรานั้นไม่มีอะไรเป็นแก่นสารนอกจากความดี เมื่อความแก่ ความเจ็บ และความตาย รวมทั้งความโศกเศร้าเสียใจพิไรรำพันต่างๆ ห้อมล้อมชีวิตอยู่ เสมือนภูเขาใหญ่ ศิลาล้วนกลิ้งบดมาทั้ง ๔ ทิศ มนุษย์ควรจะทำอะไรยิ่งกว่า กุศลจริยา (ประพฤติธรรมที่เป็นกุศล) สมจริยา (ประพฤติธรรมที่สุจริต) ชีวิตมนุษย์น้อยเกินไป ไม่ควรประมาท

พอถึงวัย ๖๐ ก็ใกล้ตายเต็มที และเป็นไปได้เสมอที่จะตายก่อนนั้น มีอะไรเล่าเป็นทุนสำหรับโลกหน้า นอกจากบุญกุศลอันตนได้ทำเองเมื่อมีเรี่ยวแรงอยู่ สัตว์ผู้เกิดมาจึงควรรีบเร่งขวนขวายทำบุญกุศลไว้ให้มาก ชีวิตจริง ๆ ของคนเราคือชีวิตในโลกหน้า เสมือนเรือนอยู่ประจำของเรา ส่วนชีวิตในโลกนี้เสมือนศาลาพักในระหว่างทางเท่านั้น

ชีวิตมนุษย์เราไม่ถึงร้อยปีก็ตาย แต่ชีวิตของเทพแม้เพียงเทพชั้นดาวดึงส์ก็มีระยะอายุถึง ๓๖ ล้านปีมนุษย์ ลองคิดดูเถิดว่าห่างกันเพียงใด และชีวิตในโลกทิพย์นั้นมิได้ทุกข์ทรมานอย่างชีวิตในโลกมนุษย์นี้

เพราะฉะนั้นบุคคลจึงไม่ควรประมาทในการสร้างคุณงามความดี ควรหาโอกาสรีบทำเช่นเดียวกับนางวิสาขามหาอุบาสิกา
(อาจารย์ วศิน อินทสระ)