Thursday, 22 July 2010

นางวิสาขามหาอุบาสิกา (2)

นางวิสาขา อุบาสิกาผู้เป็นเลิศในฝ่ายทายิกา(ผู้ให้) (๒)

พวกพราหมณ์เที่ยวแสวงหาไปตามเมืองต่าง ๆ ทั้งเมืองเล็กเมืองใหญ่ จนมาถึงเมืองสาเกต ได้พบนางวิสาขามีลักษณะภายนอกถูกต้องตามตำราอิตถี ลักษณะครบทุกประการ ขณะที่นางพร้อมทั้งหญิงบริวารออกมาเที่ยวเล่นน้ำกันที่ท่าน้ำ ขณะนั้นฝนตกลงมาอย่างหนัก หญิงบริวารทั้งหลายพากันวิ่งหลบหนีฝนเข้าไปในศาลา แต่นางวิสาขายังคงเดินด้วยอาการปกติ ทำให้พวกพราหมณ์ทั้งหลายรู้สึกแปลกใจประกอบกับต้องการจะเห็นลักษณะฟันของนางด้วยจึงถามนางว่า “ทำไม เธอจึงไม่วิ่งหลบหนีฝนเหมือนกับหญิงอื่น ๆ” นางวิสาขาตอบว่า ชน ๔ พวกเมื่อวิ่งจะดูไม่งาม ได้แก่
๑.พระราชา ผู้ทรงประดับด้วยเครื่องอาภรณ์พร้อมสรรพ
๒.บรรพชิต ผู้ครองผ้ากาสาวพัสตร์
๓.สตรี ผู้ชื่อว่าเป็นหญิงทั้งหลาย นอกจากจะดูไม่งานแล้วถ้าเกิดอุบัติเหตุจนเสียโฉม หรือพิการ จะทำให้เสื่อมเสียและหมดคุณค่า
๔.ช้างมงคล ตัวประดับด้วยเครื่องอาภรณ์สำหรับช้าง

พวกพราหมณ์ได้เห็นปัญญาอันชาญฉลาด และคุณสมบัติ เบญจกัลยาณี ครบทุกประการแล้ว จึงขอให้นางพาไปที่บ้านเพื่อทำการสู่ขอตอพ่อแม่ตามประเพณี เมื่อสอบถามถึงชาติตระกูลและทรัพย์สมบัติก็ทราบว่า มีเสมอกัน จึงสวมพวงมาลัยทองให้นางวิสาขาเป็นการหมั้นหมายและกำหนดวันวิวาหมงคลธนญชัยเศรษฐี ได้สั่งให้ช่างทองทำเครื่องประดับ ชื่อ มหาลดาปสาธน์ เพื่อมอบให้แก่ลูกสาว ซึ่งเป็นเครื่องประดับชนิดพิเศษ เป็นชุดยาวติดต่อกันตั้งแต่ ศีรษะจรดปลายเท้า ประดับด้วยเงินทองและรัตนอันมีค่าถึง ๙ โกฏิกหาปณะ ค่าแรงฝีมือช่างอีก ๑ แสน เป็นเครื่องประดับที่หญิงอื่น ๆ ไม่สามารถจะประดับได้เพราะมีน้ำหนักมาก นอกจากนี้ ธนญชัยเศรษฐี ยังได้มอบทรัพย์สินเงินทองของใช้ต่าง ๆ รวมทั้งข้าทาสบริวารและฝูงโคอีกจำนวนมากมายมหาศาล อีกทั้งส่งกุฏุมพีผู้มีความชำนาญพิเศษด้านต่าง ๆ ไปเป็นที่ปรึกษาดูแลประจำตัวอีก ๘ นายด้วย

ธนญชัยเศรษฐีให้โอวาทลูกสาวก่อนที่นางวิสาขาจะไปสู่ตระกูลของสามี ธนญชัยเศรษฐีได้อบรมมารยาทสมบัติของ กุลสตรีผู้จะไปสู่ตระกูลของสามี โดยให้โอวาท ๑๐ ประการ เป็นแนวปฏิบัติ คือ
โอวาทข้อที่ ๑ ไฟในอย่านำออก หมายความว่า อย่านำความไม่ดีของพ่อผัวแม่ผัวและสามีออกไปพูดให้คนภายนอกฟัง
โอวาทข้อที่ ๒ ไฟนอกอย่านำเข้า หมายความว่า เมื่อคนภายนอกตำหนิพ่อผัวแม่ผัวและสามีอย่างไร อย่านำมาพูดให้คนในบ้านฟัง โอวาทข้อที่ ๓ ควรให้แก่คนที่ให้เท่านั้น หมายความว่า ควรให้แก่คนที่ยืมของไปแล้วแล้วนำมาส่งคืน
โอวาทข้อที่ ๔ ไม่ควรให้แก่คนที่ไม่ให้ หมายความว่า ไม่ควรให้แก่คนที่ยืมของไปแล้ว แล้วไม่นำมาส่งคืน
โอวาทข้อที่ ๕ ควรให้ทั้งแก่คนที่ให้และไม่ให้ หมายความว่า เมื่อมีญาติมิตรผู้ยากจนมาขอความช่วยเหลือพึ่งพาอาศัย เมื่อให้ไปแล้วจะให้คืนหรือไม่ให้คืน ก็ควรให้
โอวาทข้อที่ ๖ พึงนั่งให้เป็นสุข หมายความว่า ไม่นั่งในที่กีดขวางพ่อผัว แม่ผัวและสามี
โอวาทข้อที่ ๗ พึงนอนให้เป็นสุข หมายความว่า ไม่ควรนอนก่อนพ่อผัวแม่ผัวและสามี
โอวาทข้อที่ ๘ พึงบริโภคให้เป็นสุข หมายความว่า ควรจัดให้พ่อผัว แม่ผัวและสามีบริโภคแล้ว ตนจึงบริโภคภายหลัง
โอวาทข้อที่ ๙ พึงบำเรอไฟ หมายความว่า ให้มีความสำนึกอยู่เสมอว่า พ่อผัว แม่ผัวและสามีเป็นเหมือนกองไฟ และพญานาคที่จะต้องบำรุงดูแล
โอวาทข้อที่ ๑๐ พึงนอบน้อมเทวดาภายใน หมายความว่า ให้มีความสำนึกอยู่เสอมว่า พ่อผัว แม่ผัว และสามีเป็นเหมือนเทวดาที่จะต้องให้ความนอบน้อม

ธนญชัยเศรษฐี ให้เวลาถึง ๔ เดือนในการเตรียมทรัพย์สมบัติเพื่อมอบให้แก่นางวิสาขา สำหรับใช้สอยเมื่อไปอยู่ในตระกูลของสามีเฉพาะเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์เพียงอย่างเดียวก็ใช้เวลาทำถึง ๔ เดือน เช่นกัน เมื่อถึงกำหนดนางวิสาขาได้ออกเดินทางไปยังตระกูลของสามี พร้อมด้วยข้าทาสบริวารทรัพย์สินเงินทองของใช้อเนกอนันต์ และโคกระบืออีกมากมายมหาศาล ที่บิดาจัดการมอบให้แม้กระนั้น โคกระบือที่อยู่ในคอกยังทำลายคอกวิ่งออกตามขบวนของนางวิสาขาไปอีกจำนวนมาก ทั้งนี้ด้วยอานิสงส์แห่งการทำบุญถวายทานที่นางทำไว้ในอดีตชาติ คือ ในครั้งที่นางวิสาขาเดิมเป็นธิดาของพระเจ้ากิกิ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ นางได้ถวายอาหารแก่พระภิกษุสามเณรเป็นประจำ และทั้ง ๆ ที่พระภิกษุสามเณรกล่าวว่า “พอแล้ว ๆ” ก็ยังตรัสว่า “พระคุณเจ้าสิ่งนี้อร่อย สิ่งนี้น่าฉัน” แล้วก็ถวายเพิ่มขึ้นอีก ด้วยอานิสงส์แห่งการถวายเพิ่มนี้ บันดาลให้โคเหล่านั้นแม้จะมีคนห้ามมีคอกกั้นอยู่ก็ยังโดดออกจากคอกวิ่งตามขบวนของนางวิสาขาไปอีกจำนวนมาก