Wednesday, 10 February 2010

เสาอโศก




พระเจ้าอโศกมหาราชผู้ยิ่งใหญ่แห่งประวัติศาสตร์อินเดีย กษัตริย์ผู้ได้ชื่อว่า โยนดาบแล้วมาจับคัมภีร์ ทิ้งกองทัพที่รบด้วยศาตราวุธ มาเป็น ธรรมาวุธ ประกาศตนเป็นพุทธมามกะและมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา จนทำให้พระพุทธศาสนารุ่งเรืองในอินเดียอย่างต่อเนื่องนับพันปี แม้แต่ทุกวันนี้ ชาวพุทธก็ได้รับอานิสงส์แห่งหลักฐานต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์ที่ยังหลงเหลือเป็นหลักฐานที่ไม่อาจปฎิเสธได้เลยก็คือ อักษรพรหมมี ที่สลักปักไว้ที่เสาหินของพระเจ้าอโศกมหาราชนั่นเอง วันนี้ขอนำความหมายที่พบ ณ เสาหิน เมืองนันทันการ์ด รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย มา เพื่อเป็นกรณีศึกษา ตัวอย่างของพระองค์ท่านที่มีวิธีการถวายศาสนูปถัมภ์และทัศนคติ ต่อต่างลัทธิ ต่างศาสนาในสมัยนั้นดังนี้

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี (อโศก)ผู้เป็นที่รึกแห่งทวยเทพ ได้มีพระบรมราชโองการให้ประกาศแก่อำมาตย์ทั้งหลาย ณ พระนครปาฏลีบุตรและ ณ นครอื่นๆ ว่า

ข้าฯ ได้กระทำให้สงฆ์มีความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้วบุคคลใดๆ และเป็นภิกษุหรือภิกษุก็ตามก็ไม่อาจทำลายได้ ก็แลหากบุคคลผู้ใด จะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม จักทำสงฆ์ให้แตกกันบุคคลผู้นั้นจักต้องถูกบังคับให้นุ่งห่มผ้าขาวและไปอาศัยอยู่ ณ สถานที่อื่น (นอกวัด)พึงแจ้งสาสน์พระบรมราชโองการนี้ให้ทราบทั่วกันทั้งภิกษุสงฆ์และในภิกษุณีสงฆ์ด้วยประการฉะนี้

พระผู้เป็นที่รักด้วยทวยเทพได้ตรัสไว้ดังนี้

ก็ประกาศพระบรมราชโองการเช่นนี้ ท่านทั้งหลายพึงนำไปติดไว้ ณ ทางสัญจรภายในเขตใกล้เคียงของท่านทั้งหลายฉบับหนึ่ง และจงเก็บรักษาประกาศพระบรมราชโองการอันเดียวกันนี้แลไว้ในเขตใกล้เคียงของอุบาสกทั้งหลายอีกฉบับหนึ่ง ทุกๆ วันอุโบสถ บรรดาอุบาสกเหล่านั้น พึงทำตนให้มีความรู้ความเข้าใจแนบแน่นในประกาศพระบรมราชโองการนี้ และทุกๆ วันอุโบสถ มหาอำมาตย์ทุกๆ คนพึงไปร่วมในการรักษาอุโบสถด้วยเป็นประจำเพื่อจักได้เกิดความคุ้นเคยแนบสนิท และรู้เข้าใจทั่วถึงซึ่งประกาศพระบรมราชโองการนั้นแล

ทั่วทุกหนทุกแห่งที่อำนาจบริหารราชการของท่านทั้งหลายแผ่ไปถึง ท่านทั้งหลายพึงขับไล่ (บุคคลผู้ทำลายสงฆ์)ออกไปเสีย และในทำนองเดียวกันนั้น ท่านทั้งหลายพึงขับไล่ (บุคคลที่ทำลายสงฆ์) ในเมืองด่าน และในท้องถิ่นทั้งหลายออกไปเสีย โดยให้เป็นตามข้อความในประกาศนี้