Wednesday, 13 January 2010

อยู่ด้วยความรัก


พระสัมมาสัมพุทธเจ้า...ทรงสอนให้ทุกคนตั้งอยู่ในความเมตตา คือให้มีความปรารถนาดีต่อกัน เห็นอกเห็นใจกัน ไม่มีการรังเกียจเดียดฉันท์และริษยากัน ให้รู้จักการเอาใจเขามาใส่ใจเรา เรารักสุข เกลียดทุกข์ฉันใด ผู้อื่นก็รักสุข เกลียดทุกข์ ฉันนั้นเหมือนกัน

เมตตา จึงหมายถึงความเป็นมิตรไมตรีกัน ผู้ที่เรายกย่องว่าเป็นมิตร คือผู้ที่ปรารถนาดีต่อเรา เพราะฉะนั้นผู้ที่ได้ชื่อว่า มิตร จึงต้องประกอบด้วยเมตตา

ถ้าทุกคนเพียงแต่เมตตารักใคร่ปรารถนาดีต่อกันเท่านั้น โลกทั้งโลกจะสดชื่นแจ่มใส ไม่ว่าท้องฟ้าจะสว่างไสวอำไพไปด้วยแสงแดด หรือว่ามืดครึ้มไปด้วยเมฆฝน ไม่ว่าฝนจะตกหรือแดดจะออก ที่พำนักพักพิงของเราจะเล็กหรือใหญ่ น่ารื่นรมย์หรือไม่ ก็ไม่เห็นเดือดร้อน ในเมื่อจิตใจของเราเองก็แจ่มใส ทั้งมองไปทางไหนก็พบแต่คนที่หน้าตาสดใสเบิกบาน เจรจาปราศรัยกันด้วยหน้าตายิ้มแย้ม และด้วยท่วงท่าที่น่ารักแสดงถึงความเป็นมิตร เพียงแต่เขียน เพียงแต่พูด หรือเพียงแต่ฟังว่าให้ทุกคนมีเมตตาต่อกัน ก็ดูไม่ยาก แต่การปฏิบัติให้ได้อย่างที่เขียน พูด และที่ฟังนั้นไม่ง่ายนัก ต้องใช้ความอดทนอดกลั้น

พระพุทธเจ้า ตรัสเรียกว่า "ขันติ" คือ อโทสะ ความไม่โกรธ มากเป็นพิเศษ คนที่ไม่โกรธ จึงเป็นคนน่ารักมาก หรือแม้จะโกรธ แต่ระงับไว้ได้ ไม่แสดงให้ปรากฏก็ยังน่ารัก สำหรับบุคคลที่เรารักเราชอบ แม้ว่าเขาจะทำให้เราไม่พออกพอใจบ้าง เราก็สามารถจะเมตตาได้ง่าย ด้วยการใช้ขันติ ความอดทนอดกลั้นเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น

แต่สำหรับบุคคลที่เราไม่รักไม่ชอบนั้น แม้เขาจะไม่ได้ทำอะไรให้ขัดเคือง ก็ยากที่จะเมตตาเป็นมิตรด้วยอยู่แล้วถ้ายิ่งทำให้เราขัดเคืองไม่พอใจแม้สักนิด เราก็จะพาลโกรธ พาลเกลียดมากขึ้น เราจึงต้องใช้ความอดทนมากเหลือเกิน ในการที่จะไม่โกรธ หรือไม่แสดงอาการขุ่นเคืองให้ปรากฏ และในการที่จะอภัยให้...

ทั้งๆ ที่รู้กันทุกคนว่า ความโกรธเป็นของไม่ดี ความผูกโกรธเป็นของไม่ดี ความอาฆาตเป็นของไม่ดี เพราะทำให้จิตใจเร่าร้อน กระวนกระวายไม่เป็นสุข ทั้งหน้าตาก็พลอยเศร้าหมองเป็นทุกข์ แต่ทุกคนก็ยากที่จะตัดมันออกไปจากใจ ซ้ำบางคนยังชอบเก็บสะสมเอาไว้อีกด้วย ก็ทำไมเราจะลืมความไม่พออกพอใจ ที่ใครๆ เขาทำต่อเราเสียไม่ได้หรือ อภัยให้แก่กันเสียไม่ได้หรือ ใช้เมตตาเข้าหากัน ถ้าทำได้จิตใจก็จะไม่เร่าร้อน ไม่กระวนกระวาย หน้าตาก็พลอยแจ่มใสเบิกบาน เป็นสุขทุกเมื่อ

อาจารย์ ประณีต ก้องสมุทร