ความรักของพ่อที่มีแก่นางวิสาขา บุตรสาว
อันความรักของบิดามารดาที่มีต่อบุตรนั้นมากเกินกว่าจะประมาณได้ เป็นความรักพิสุทธิ์ใสไร้มลทินใดๆ บุคคลส่วนใหญ่จะรักใคร่เราก็เพียงแต่รูปกายภายนอก อันว่าหมดงามก็หมดรัก หมดทรัพย์ก็หน่ายหนี แต่บิดามารดารักเราประดุจแก้วตาดวงใจ เปี่ยมล้นด้วยความปรารถนาดีไม่มีเสื่อมคลาย เป็นความรักที่จีรังยั่งยืนไปแปรผันไปตามกาลเวลา
ความห่วงใยที่บุพการีมีต่อบุตร คือสายตามองการณ์ไกลของผู้ที่ผ่านโลกและชีวิตมายาวนาน ดังเช่นท่านธนัญชัยเศรษฐี บิดาของนางวิสาขา ในกาลที่บุตรีซึ่งเลี้ยงดูเป็นอย่างดีมาตั้งแต่เล็กจะต้องออกเรือนไปสู่ตระกูลอื่นนั้น ท่านมีความห่วงใยถึงความเป็นอยู่ และความเดือดร้อนที่จะมีโอกาสเกิดขึ้นในภายภาคเบื้องหน้า ได้ตรึกตรองหาแนวทางแก้ปัญหาไว้อย่างรอบคอบ ด้วยเข้าใจดีว่า
อันว่าบุคคลอื่นย่อมเป็นคนอื่น จะให้เอ็นดูรักใคร่บุตรของตนเสมอคนในครอบครัวย่อมไม่มี
และเพื่อไม่ให้เป็นที่เสื่อมเกียรติแก่บุตรีผู้เป็นหญิงมาจากตระกูลคฤหบดีมหาศาลแห่งแคว้น ทรัพย์สินอันใดจักต้องมิให้มีขาดตกบกพร่อง เพื่อนางจักได้เป็นที่เกรงใจแห่งตระกูลสามี และเพื่อประโยชน์ที่จะเกิดมีในอนาคต ในกาลนี้ ท่านธนัญชัยเศรษฐีได้ทำการตระเตรียมเพื่อธิดาอยู่ตลอด ๔ เดือน พร้อมกับการสร้างเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์
เมื่อจะให้สิ่งที่ควรให้แก่ธิดา จึงให้บรรทุกกหาปณะเต็มเกวียน ๕๐๐ เล่ม ภาชนะทองคำเต็มเกวียน ๕๐๐ เล่ม ภาชนะเงินเต็มเกวียน ๕๐๐ เล่ม ภาชนะเงินเต็มเกวียน ๕๐๐ เล่ม ภาชนะทองแดงเต็มเกวียน ๕๐๐ เล่ม ภาชนะสำริดเต็มเกวียน ๕๐๐ เล่ม ผ้าด้ายผ้าไหมเต็มเกวียน ๕๐๐ เล่ม เนยใสเต็มเกวียน ๕๐๐ เล่ม น้ำมันเต็มเกวียน ๕๐๐ เล่ม น้ำอ้อยเต็มเกวียน ๕๐๐ เล่ม ข้าวสาลีเต็มเกวียน ๕๐๐ เล่ม และให้บรรทุกเครื่องอุปกรณ์มีไถและผานเป็นต้น เต็มเกวียน ๕๐๐ เล่ม
บิดานางวิสาขามีความคิดว่า ในสถานที่ที่ธิดาของเราไปแล้ว นางอย่าได้ส่งคนไปหยิบยืมหรือขอสิ่งของจากประตูเรือนบุคคลอื่นว่า “ เราต้องการสิ่งของชื่อโน้น ” ดังนั้น เพื่อมิให้ธิดาต้องเดือดร้อนใจ ท่านธนัญชัยเศรษฐีจึงได้สั่งให้มอบเครื่องอุปกรณ์ครบทุกสิ่งแก่ธิดาของตน
นอกจากนี้ ท่านเศรษฐียังได้ให้รถอีก ๕๐๐ คัน แต่ละคันให้มีสาวใช้รูปงามประดับด้วยเครื่องประดับอันวิจิตรพร้อมสรรพ นั่งบนรถคันละ ๓ คน และได้ให้สาวใช้อีก ๑ , ๕๐๐ คน โดยสั่งว่า
พวกเจ้าเท่านี้คนจงทำหน้าที่อาบน้ำให้แก่ธิดาของเรา เท่านี้คนจงรับหน้าที่จัดอาหารบริโภค เท่านี้คนจงรับหน้าที่แต่งตัวให้แก่ธิดาของเรา
นอกจากเครื่องอุปโภคบริโภคพร้อมทั้งบริวารคนรับใช้แล้ว ยังมีสิ่งหนึ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อชาวภารตะยุทธในยุคนั้น เพราะอาชีพส่วนใหญ่ของประชาชนล้วนทำเกษตรกรรม ต้องอาศัยสัตว์เลี้ยงในการไถคราด การเดินทาง หรือการบรรทุกสิ่งของ อีกทั้งยังเป็นแหล่งอาหารสำคัญของชาวเมืองในการผลิตน้ำนมไว้บริโภค แปรรูปเป็น นมส้ม เนยข้น เนยใส น้ำมันเปรียง อีกทั้ง ข้าวมธุปายาสล้วนหุงต้มด้วยน้ำนมทั้งสิ้น ดังนั้น โค จึงเป็นสัตว์เลี้ยงสำคัญที่จะขาดเสียมิได้
ครั้งนั้น ท่านธนัญชัยเศรษฐีคิดว่า “ เราจะให้โคแก่ธิดาของเรา "”จึงสั่งบุรุษบริวารว่า พวกท่านจงไปเปิดประตูคอกน้อย แล้วจงถือกลอง ๓ ใบ อยู่ในสถานที่ ๓ คาวุต ( ๓๐๐ เส้น ) จงยืนอยู่ที่ข้างทั้ง ๒ ฟาก โดยส่วนกว้างในเนื้อที่ประมาณ ๑ อุสภะ ( ๑ เส้นเท่ากับ ๑๕ วา ) จงไล่ต้อนอย่าให้แม่ฝูงโคไปทางอื่น เมื่อฝูงแม่โคหยุดยืนแล้วพึงตีกลองสัญญาณ
บุรุษเหล่านั้นทำตามคำสั่งของท่านเศรษฐีทุกประการ ทันทีที่เปิดประตูคอก ฝูงแม่โคได้เดินขบวนออกไปเป็นทิวแถวระยะทางไกลได้ กึ่งโยชน์ ( ๘ กิโลเมตร ) พวกบุรุษได้ตีกลองสัญญาณขึ้น แต่ในเวลาฝูงแม่โคไปได้ ๓ คาวุต กว้างประมาณ ๑ อสุภะ ด้วยอาการอย่างนี้ ธนัญชัยเศรษฐีสั่งให้ปิดคอกด้วยกล่าวว่า “ ฝูงแม่โคเท่านี้พอแล้วแก่ธิดาของข้าพเจ้า พวกท่านจงปิดประตูเถิด ”
เมื่อพวกบุรุษปิดคอกประตูแล้ว แต่โคตัวมีกำลังและแม่โคนมทั้งหลายยังกระโดดข้ามรั้วคอกวิ่งตามออกไปอีก และมิได้มีจำนวนน้อย แต่ในขณะที่บุคคลทั้งหลายกั้นคอกไว้ ก็ได้มีโคที่มีกำลังมากถึง ๖หมื่นตัว และแม่โคนมอีก ๖ หมื่นตัว กระโดดตามออกไป และมีลูกโคตัวที่มีกำลังจำนวน ๖ หมื่นตัวออกไปด้วย อีกทั้งพวกโคอุสุภะของแม่โคนมเหล่านั้นก็ได้ติดตามไปด้วย
ทั้งนี้เพราะบุญของนางวิสาขาได้เคยทำได้ในอดีต ส่งผลในคราวนี้เช่นกัน เกิดจากผลแห่งทานที่นางวิสาขาได้ถวายสิ่งของแก่พระภิกษุสามเณรผู้ห้ามอยู่
ดังมีเรื่องกล่าวว่า ในสมัยพระกัสสปะสัมมาสัมพุทธเจ้า นางวิสาขาได้เป็นพระกนิษฐาของพระราชธิดาทั้ง ๗ พระองค์ของพระเจ้ากิกี ทรงพระนามว่า “ สังฆทาสี ” เมื่อทรงถวายโครส ๕ ประการ ( นมสด นมส้ม เนยใส เนยข้น น้ำมันเปรียง ) แก่พระภิกษุ ๒ หมื่นรูป แม้พระภิกษุและสามเณรจะปิดบาตรแล้วกล่าวห้ามว่า “ พอแล้วๆ ” พระนางก็ยังยืนยันรับสั่งว่า “ สิ่งนี้อร่อยนะ สิ่งนี้น่าฉันนะ เจ้าค่ะ ” แล้วได้ทรงถวายแล้ว ถวายอีก เพราะผลแห่งกุศลกรรมนั้น โคทั้งหลายแม้บุคคลห้ามไว้ จึงมิอาจห้ามได้แล้วอย่างนั้น
การที่ทรัพย์สิ่งของจำนวนมากเช่นนี้ จำเป็นต้องมีคนรับใช้ชายหญิงเป็นผู้ช่วยเหลือ แต่ท่าน ธนัญชัยเศรษฐีมิได้จัดหาให้ธิดา สร้างความแปลกใจแก่ภรรยาคือนางสุมนาเทวีอย่างยิ่ง จึงถามสามีว่า “ สิ่งทั้งปวงสำหรับลูกสาวของเราท่านได้จัดแจงไว้แล้ว แต่คนรับใช้ชายหญิงสำหรับเป็นผู้ช่วยเหลือ ท่านยังมิได้จัดแจง เป็นเพราะเหตุอะไร ”
ธนัญชัยเศรษฐีกล่าวชี้แจงว่า “ เหตุที่ไม่ได้จัดแจง “ เพื่อต้องการจะรู้ว่ามีผู้ที่จงรักภักดีต่อลูกสาวเรามากเพียงใด เพราะเราจะไม่บังคับผู้ไม่พอใจไปกับลูกสาวของเรา รอเวลาที่ลูกสาวของเราจะขึ้นยานพาหนะไปนั้นแหละ เราจึงจะประกาศว่า ผู้ใดประสงค์จะไปกับนางวิสาขาธิดาของเราก็จงไป ผู้ไม่ประสงค์ก็ขออย่าได้ไป
บทความจาก http://www.oknation.net/blog/boy-girl/2009/12/05/entry-1